top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนtiewjourney

รีวิว City Palace, Jaipur ข้อควรรู้ก่อนไปเที่ยวพระราชวังหลวงเมืองชัยปุระ ประเทศอินเดีย




City Palace, Jaipur พระราชวังหลวงแห่งเมืองชัยปุระ เป็นพระราชวังขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ใจกลางเมืองชัยปุระ รัฐราชสถาน ประเทศอินเดีย

Content นี้มีอะไรบ้าง







Introduction

City Palace, Jaipur พระราชวังหลวงแห่งเมืองชัยปุระ เป็นพระราชวังขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ใจกลางเมืองชัยปุระ รัฐราชสถาน ประเทศอินเดีย สร้างขึ้นโดยมหาราชา ไสว จัย สิงห์ที่ 2 (Maharaja Sawai Jai Singh II) เดิมเป็นที่อยู่อาศัยของผู้ครองเมือง ด้วยความตั้งใจจะย้ายเมืองหลวงจาก Amber มาที่ Jaipur ปัจจุบันยังคงมีเชื้อพระวงศ์อาศัยอยู่ โดยมีการแบ่งโซนเขตที่พักอาศัย และส่วนพิพิธภัณฑ์สำหรับให้คนนอกเข้าชม


ที่นี่สร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมของราชบุตรที่มีลวดลายเอกลักษณ์แบบอินเดีย ผสมกับสถาปัตยกรรมของโมกุลที่มีลักษณะเด่นของสถาปัตยกรรมอินโด-อิสลาม สังเกตได้จากทางเข้าที่เป็นหลังคาทรงโค้งและโดมขนาดใหญ่ สร้างด้วยหินทรายสีแดงและชมพู






Mubarak Mahal


อาคารที่สร้างขึ้นเพื่อต้อนรับแขก อาคารนี้ได้ชื่อว่า 'Welcome Palace' สร้างขึ้นในปี 1900 โดย Madho Singh II เพื่อรองรับแขกบ้านแขกเมือง ปัจจุบันอาคารนี้ได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงฉลองพระองค์ ผ้าไหม ชุดแต่งกายแบบมุสลิมของเชื้อพระวงศ์ในสมัยศตวรรษที่ 18 ซึ่งภายในพิพิธภัณฑ์นี้ห้ามถ่ายรูป และบันทึกวีดีโอ ถ่ายได้เพียงด้านนอกเท่านั้น






Diwan-I-Khas

(ดีวันอีคาส)


Diwan เป็นคำที่มาจากภาษาเปอร์เซีย แปลว่า โถงต้อนรับ มักพบเจอในสถาปัตยกรรมของโมกุล อดีตที่นี่เป็นสถานที่ว่าราชการของมหาราชา บริเวณนี้จะมีแจกันเงินขนาดใหญ่ ชื่อว่า Gangajalis ซึ่งสร้างจากเงินแท้ ได้รับการบันทึกลงใน Guinness Book of Records ว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก สูง 1.6 เมตร หนัก 340 กิโลกรัม พื้นทำจากหินอ่อน







Ridhi Sidhi Pol


ประตูทางเข้าไปสู่ Pritam Niwas Chowk ประกอบไปด้วยซุ้มประตูทั้ง 4 ว่ากันว่าประตูทั้ง 4 นี้ สร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนเทพเจ้าฮินดูสี่องค์ คือ พระวิษณุ พระศิวะ พระแม่ปารวดี และพระพิฆเนศ รวมถึงเป็นตัวแทนของฤดูกาลทั้งสี่ ประกอบด้วย

  • ประตูนกยูง (Peacock Gate) ตัวแทนพระวิษณุ สัญลักษณ์แทนฤดูฝน

  • ประตูดอกบัว (Lotus Gate) ตัวแทนพระศิวะ สัญลักษณ์แทนฤดูร้อน

  • ประตูกุหลาบ (Rose Gate) ตัวแทนพระแม่ปารวดี สัญลักษณ์แทนฤดูหนาว

  • ประตูสีเขียว (Leheriya Gate / Wave Gate) ตัวแทนพระพิฆเนศ สัญลักษณ์แทนฤดูใบไม้ผลิ





แต่ประตูที่มีความสำคัญที่สุดคือประตูนกยูง เพราะตามความเชื่อ นกยูงเป็นเสมือนสัตว์ที่อยู่บนสวรรค์ มีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพบูชา และยังเป็นเครื่องหมายของกษัตริย์ ซึ่งตามความเชื่อกษัตริย์คือตัวแทนของเทพเจ้า อีกความหมายหนึ่งคือ การเป็นสัญลักษณ์แทนฤดูฝน นั่นหมายถึงฤดูการเริ่มต้นเพาะปลูกของชาวอินเดีย นกยูงที่อยู่ที่ประตูนี้จะมีพืชออกมาจากปาก จึงเปรียบเหมือนนกยูงเป็นผู้ที่ทำให้ฝนตก เพื่อความอุดมสมบูรณ์



Pritam Niwas Chowk

(Courtyard of the Beloved)


ลานกว้างภายในพระราชวัง อดีตเป็นสถานที่สำหรับการเต้นรำ การแสดงโชว์ ในช่วงเทศกาล จะมีระเบียงด้านบนซุ้มประตูทั้ง 4 สำหรับให้นักร้องยืนร้องเพลง และเป็นลานที่เป็นทางเข้าไปสู่ Chandra Mahal




Chandra Mahal


Chandra Mahal หรืออีกชื่อหนึ่งคือ 'Moon Palace' อาคาร 7 ชั้นนี้ หากต้องการขึ้นไปชมด้านบน จะต้องเสียค่าเข้าชมเพิ่มจากปกติ (ต้องซื้อ Ticket แบบ Royal Splendour) ที่สำคัญอาคารนี้จะเป็นที่อยู่อาศัยของมหาราชาและราชวงศ์ในปัจจุบันอีกด้วย โดยแต่ละชั้นจะมีชื่อ และมีการตกแต่งที่แตกต่างกันออกไป


  • Sukh Niwas หรือที่เราคุ้นกันในชื่อ Blue Room จะอยู่บนชั้น 2 เป็นห้องที่ตกแต่งด้วยสีฟ้า

  • Rang Mandir หรือ The Mirror Room ชั้น 3

  • Shobha Niwas หรือ Hall of Beauty ชั้น 4 ตกแต่งด้วยสีแดง ทอง

  • Chhavi Niwas ชั้น 5

  • Shri Niwas ชั้น 6

  • Mukut Niwas ชั้น 7 ด้านบนของ Mukut Niwas จะมีการชักธงขึ้นเสา เพื่อเป็นสัญลักษณ์เมื่อมหาราชาอยู่ในที่พัก



เวลาทำการ


เปิดทุกวัน โดยมีเวลาเข้าชม 2 ช่วง คือกลางวันและกลางคืน

  • กลางวัน 09.30 - 17.00 น.

  • กลางคืน 19.00 - 22.00 น.




ค่าเข้าชม


  • ค่าเข้า 700 รูปี

  • หากต้องการเข้าชมห้องพิเศษในส่วน Chandra Mahal ที่มีห้อง Blue Room จะต้องจ่ายค่าเข้าแบบ Royal Splendour พร้อมไกด์และเครื่องดื่ม 4,000 รูปี





 

ชอบคอนเท้นแบบนี้ ฝากติดตามผลงานของเราช่องทางอื่นๆ ด้วยนะคะ 🥰

Komentarze


bottom of page