Content นี้มีอะไรบ้าง
NAGASAKI
นางาซากิ จังหวัดในภูมิภาคคิวชู ตั้งอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศญี่ปุ่น ชื่อ 'นางาซากิ' มีความหมายว่า 'แหลมที่ทอดยาว' แต่ก่อนเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงขนาดเล็ก จนมีนักสำรวจชาวโปรตุเกสเข้ามาค้าขายและเผยแผ่ศาสนา จนเป็นเมืองท่าที่ยิ่งใหญ่และมีความสำคัญ เป็นศูนย์กลางการสัญจร และการค้าขายของนานาประเทศ ทำให้เมืองนี้ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมตะวันตกที่หลากหลาย จนกระทั่งช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในวันที่ 9 สิงหาคม 1945 เวลา 11.02 น. ตามเวลามาตรฐานญี่ปุ่น เมืองนี้โดนระเบิดนิวเคลียร์ที่ชื่อ Fat Man ซึ่งเป็นเป็นเมืองที่สองที่โดนระเบิดนิวเคลียร์ หลังจากฮิโรชิม่าเพียง 3 วัน และเป็นเมืองสุดท้ายในโลกที่โดนระเบิดนิวเคลียร์
Nagasaki Atomic Bomb Museum
พิพิธภัณฑ์ระเบิดปรมาณู
พิพิธภัณฑ์ระเบิดปรมาณูนางาซากิ สร้างขึ้นเพื่อบอกเล่าเรื่องราวสมัยสงครามโลกที่จังหวัดนางาซากิ ได้ถูกระเบิดลูกที่ 2 ที่มีชื่อว่า Fat Man ถล่มเมืองในวันที่ 9 สิงหาคม 1945 ช่วงเวลา 11.02 น. มีผู้เสียชีวิตกว่า 75,000 คน และผู้ได้รับผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสีอีกนับไม่ถ้วน
เมื่อเดินเข้าด้านใน สิ่งแรกที่เจอคือตู้โชว์นาฬิกา เวลาที่เข็มนาฬิกาชี้คือ 11.02 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ระเบิดได้ลงสู่เมืองนี้
เดินต่อเข้ามาอีกนิดจะเจอกับการจัดแสดงซากปรักหักพัง ทั้งกำแพงของ Urakami Cathedral แท็งก์น้ำของโรงเรียน Keiho Middle School ที่ได้รับผลจากแรงระเบิด
แท็งก์น้ำของโรงเรียน Keiho Middle School
ภาพจำลองแสดงถึงแรงระเบิดที่เกิดขึ้น และรังสีความร้อนที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว
เมื่อเดินเข้ามาอีกโถง จะมีการจำลองลูกระเบิดปรมาณู Fat Man โดยมีรายละเอียดของลูกระเบิด มีการผ่าให้ดูส่วนประกอบภายใน ว่าทำจากสารประกอบอะไรบ้าง และมีการจัดแสดงโชว์สิ่งของที่ได้รับความเสียหายจากแรงระเบิดในครั้งนี้
ภายในตู้จะมีการจัดโชว์ข้าวของเครื่องใช้ ที่เสียหายจากแรงระเบิด รวมถึงภาพถ่ายที่ได้มีการบันทึกหลังจากเกิดเหตุการณ์ทิ้งระเบิดที่เมืองนางาซากิ บ้านเมือง ตึก อาคาร ที่พักอาศัย โบสถ์ สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ราบเป็นหน้ากลอง
ภาพความเสียหายจากแรงระเบิด และรังสีความร้อน
กล่องข้าวกลางวันของเด็กนักเรียน ที่ยังมีอาหารไหม้เกรียมอยู่ข้างใน
เสื้อผ้าที่ไหม้เกรียม และขาดจากการระเบิด
ก่อนจบจะมีโซนที่บอกเล่าถึงความเป็นอยู่ของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองขณะเกิดเหตุ และรอดจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากรังสีความร้อน และสารกัมมันตภาพรังสีของระเบิดนิวเคลียร์ ไม่ว่าจะเป็นแผลพุพอง แผลไฟไหม้ หรือโรคร้ายแรงต่อเนื่อง
วิวัฒนาการของระเบิดนิวเคลียร์
พิพิธภัณฑ์ระเบิดปรมาณูนางาซากิ
• ค่าเข้า 200 Yen
• เวลาทำการ 08.30-17.30 น.
• การเดินทาง รถรางสาย 1 หรือ สาย 3 ลงป้ายรถราง Hamaguchi-machi
Atomic Bomb Hypocenter
จุดศูนย์กลางการทิ้งระเบิด
จุดศูนย์กลางในการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ เป็นลานกว้างที่มีแท่งหินสีดำตั้งอยู่ตรงกลาง อยู่บริเวณเดียวกับพิพิธภัณฑ์ระเบิดปรมาณูนางาซากิ จากทางเข้าพิพิธภัณฑ์เดินข้ามถนนมา ลงบันไดมาด้านล่างจะเจอกับลานกว้างนี้
ส่วนหนึ่งของกำแพง Urakami Cathedral ที่หลงเหลือ
Nagasaki Peace Park
สวนสันติภาพนางาซากิ
สวนสันติภาพนางาซากิ สวนที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึง และอุทิศให้กับผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์การโดนทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่เมืองนางาซากิ เป็นเครื่องเตือนใจของความเสียหายที่เกิดขึ้น
จุดสำคัญในสวนแห่งนี้คือ
1. รูปปั้นอนุสาวรีย์แห่งสันติภาพ (Peace Statue) รูปปั้นที่เป็นเอกลักษณ์ของสวนแห่งนี้ ทำจากโลหะสัมฤทธิ์ มีความสูง 9.7 เมตร และมีน้ำหนัก 30 ตัน ลักษณะเด่นของรูปปั้นคือ มือขวาชี้ด้านบน หมายถึง ภัยจากระเบิดปรมาณู, มือซ้ายเหยียดแนวราบ หมายถึง สันติภาพ, ดวงตาที่ปิด หมายถึง การอธิษฐานให้ผู้ที่สูญเสีย
2. น้ำพุสันติภาพ (Fountain of Peace) หน้าทางเข้า สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหยื่อที่ในช่วงสงครามกระหายน้ำจนเสียชีวิต ตัวน้ำพุถูกออกแบบเป็นรูปปีกของนกพิราบ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ
3. ระฆังแห่งสันติภาพ (Bell of Nagasaki) สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับเด็กที่ได้รับผลกระทบจากระเบิดปรมาณู ที่เสียชีวิตจากการขาดน้ำ กระหายน้ำ ว่ากันว่าผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ส่วนหนึ่งคือผู้ที่เสียชีวิตจากการขาดน้ำ เพราะหลังจากการเกิดระเบิด ได้เกิดความโกลาหล
วิธีการเดินทาง
การเดินทางจากฟุกุโอกะ มาที่เมืองนางาซากิ เราเริ่มจากสถานี Hakata นั่งรถไฟด่วน Ltd. Exp. Kamome ลงที่สถานี Nagasaki ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง โดยใช้บัตร JR North Kyushu Pass และเดินทางภายในเมืองนางาซากิด้วยรถราง ค่าโดยสารจ่ายเป็นรายเที่ยว หรือซื้อเป็นบัตร One Day Pass ผ่านแอปพลิเคชั่น อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่
ชอบคอนเท้นแบบนี้ ฝากติดตามผลงานของเราช่องทางอื่นๆ ด้วยนะคะ 🥰
Tik tok : https://tiktok.com/@tiewjourney
YouTube : https://youtube.com/c/tiewjourney
Kommentarer